top of page
ค้นหา

พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่ พิมพ์ที่ 1 พิมพ์สังฆาฏิสั้น ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี

  • รูปภาพนักเขียน: Artmulet Precious
    Artmulet Precious
  • 9 ต.ค. 2567
  • ยาว 1 นาที

พระสมเด็จฯองค์นี้มีความน่าสนใจอยู่ 3 ประการ ซึ่งท่านอาจารย์ได้อธิบายไว้ว่าความน่าสนใจทั้ง 3 ประการควรจะเป็นสิ่งที่ผู้ที่สนใจศึกษาการดูพระควรจะรับรู้และควรได้เคยผ่านตาไว้บ้าง เพราะหากเข้าไปในตลาดพระก็มีโอกาสที่จะได้พบเจอองค์พระที่มีลักษณ์ที่คล้ายกันนี้ได้ หากได้มีประสบการณ์ ได้เคยรับรู้มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเคยผ่านตามาก่อน จะได้สามารถดูได้ว่าเป็นพระที่มีคุณค่าอย่างไร


 ประการแรก เส้นสังฆาฏิของพระสมเด็จฯ องค์นี้ติดเพียงบางๆเท่านั้น ถ้าสมาชิกทุกท่านสังเกตุให้ดี พระสมเด็จฯ พิมพ์สังฆาฏิสั้นที่แอดมินเลือกมาลงในศึกษากันก่อนหน้านี้จะเป็นพระสมเด็จฯ ที่มีเส้นสังฆาฏิที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งท่านอาจารย์กล่าวว่าหากอยู่ในตลาดพระ เราอาจจะได้พบเห็นพระสมเด็จฯ พิมพ์สังฆาฏิสั้นที่เส้นสังฆาฏิติดเพียงเรือนรางแทบมองไม่เห็น หรืออาจจะมองไม่เห็นเลยได้เป็นจำนวนมาก อาจจะมากกว่าองค์ที่มองเห็นเส้นสังฆาฏิที่ชัดเจนด้วยซ้ำ ดังนั้นท่านอาจารย์จึงอยากให้สมาชิกที่ต้องการศึกษาเรื่องการดูพระได้ผ่านตาไว้ จะได้ไม่เข้าใจผิดว่าพระสมเด็จฯ พิมพ์สังฆาฏิสั้นต้องเห็นเส้นสังฆาฏิชัดเจนเท่านั้น องค์พระที่เส้นสังฆาฏิไม่ชัดก็มีเช่นเดียวกัน ผมลองถามท่านอาจารย์เล่นๆว่าแบบที่เห็นเส้นชัดกับไม่ชัดท่านชอบแบบไหนมากกว่ากัน ซึ่งอันนี้เป็นความชอบส่วนตัวของท่านอาจารย์นะครับ ท่านอาจารย์บอกว่าท่านชอบที่เห็นเส้นสังฆาฏิชัดมากกว่า


 ประการที่2 ท่านอาจารย์ได้ให้แอดมินดูภาพพระองค์นี้และบอกว่า หากสังเกตุให้ดี เมื่อมองดูพระองค์นี้จะรู้สึกว่าพระเศียรขององค์พระประธานมีลักษณะบี้แบนทางด้านหน้าอยู่เล็กน้อย เป็นเพราะพระสมเด็จฯองนี้ไม่มีส่วนนูนของหน้าที่ปกติจะนูนออกมาเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งของจมูก ท่านอาจารย์สันนิษฐานว่าพระองค์นี้น่าจะกดพิมพ์ตื้นไปซักหน่อยจึงทำให้เส้นสังฆาฏิติดไม่ชัด และส่วนนูนของหน้าเองก็หายไป ซึ่งหากสังเกตุต่อไป ในส่วนความคมของฐานก็ไม่คมมากนัก ซึ่งลักษณะทั้งหมดดังกล่าวมาจากการกดพิมพ์ที่ตื้นไปซักเล็กน้อย ท่านอาจารย์กล่าวว่าพระสมเด็จฯในลักษณะนี้มีจำนวนมาก สามารถพบเห็นได้เป็นปกติ และอาจจะมีจำนวนมากกว่าพระสมเด็จฯที่กดพิมพ์ลึกเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นอยากให้สมาชิกแฟนเพจได้ผ่านตาไว้บ้างสำหรับพระสมเด็จฯ ที่มีลักษณะการกดพิมพ์ที่ตื้น


 ประการที่3 ประการนี้เป็นความสงสัยของแอดมินเอง คือแอดมินสงสัยว่าพระสมเด็จฯองค์นี้มีสีที่ไม่เหมือนองค์อื่น และดูแล้วก็เหมือนไม่ได้มีสิ่งใดมาปิดผิวแล้วหลุดร่อนออกไป ผิวขององค์พระออกเป็นสีน้ำตาลค่อนดำแต่ไม่เข้ม แอดมินเลยสอบถามท่านอาจารย์ ซึ่งท่านได้เล่าให้ฟังว่าพระสมเด็จฯองค์นี้มีเนื้อเป็นสีขาว แต่ที่ผิวมีสีน้ำตาลจากไคลเสมาที่ขึ้นมาแบบอ่อนๆ ท่านให้ลองสังเกตุบริเวณด้านในของซุ้มเรือนแก้วด้านขวาและบริเวณใต้ฐานชั้นที่1 จะมีคราบสีน้ำตาลเข้มเกาะอยู่ ซึ่งก็คือไคลเสมาที่ขึ้นมาเช่นกันแต่มีความเข้มมากกว่าบริเวณอื่น ท่านยังบอกว่านี่เป็นเอกลักษณ์ของพระองค์นี้ เพราะเหมือนมีไคลเสมาขึ้นจางๆทั้งองค์ เป็นเอกลักษณ์พิเศษที่ไม่ค่อยได้เห็นในพระองค์อื่นๆ


ในส่วนของตำหนิพุทธศิลป์ของพระสมเด็จฯองค์นี้ท่านอาจารย์ได้เขียนอธิบายไว้แบบไม่ชี้จุดดังนี้


 องค์พระตัดปีกนอกกรอบแม่พิมพ์ เราจึงสามารถเห็นกรอบแม่พิมพ์ได้อย่างคมชัดสมบูรณ์ กรอบด้านซ้ายจะตัดตรงลงมาที่ซุ้มเรือนแก้วในระดับข้อศอกขององค์พระประธาน ซึ่งเป็นตำหนิพุทธศิลป์ของสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ ทุกพิมพ์ย่อย


 ซุุ้มเรือนแก้วจะกลมโตเหมือนหวายผ่าซีก เส้นซุ้มของพิมพ์ที่1 จะโตมากที่สุดเมื่อเทียบกับพระสมเด็จวัดระฆังฯพิมพ์อื่นๆ และเส้นซุ้มมีลักษณะการหดตัวตั้งฉาก


 พระเศียรขององค์พระจะกลมใหญ่ สำหรับองค์นี้จะบี้แบนด้านหน้าเล็กน้อย (อย่างที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น) พระเกศปลายแหลมจรดซุ้มเรือนแก้ว ที่โคนพระเกศจะใหญ่เป็นลักษณะทรงกรวย


 พระกรรณทั้งสองข้างเป็นปีกคมชัด พระกรรณด้านซ้ายจะติดชัดกว่าด้านขวาเนื่องจากการถอดพิมพ์จากขวาไปซ้ายทำให้ด้านซ้ายจะมีลักษณะที่ลึกกว่าเป็นเหตุให้รายละเอียดเล็กๆอย่างพระกรรณด้านซ้ายติดชัดกว่า


 ไหล่จะตั้งฉาก มีเส้นสังฆาฏิพาดจากบ่าซ้ายลงมาที่กลางอก เส้นสังฆาฏิติดเพียงเบาบางมองจากภาพจะเห็นได้เพียงเงาบางๆเท่านั้น แขนทั้งสองกลมโตและมีลักษณะที่หดตัวตั้งฉาก ที่ต้นแขนซ้ายจะมีการยุบตัวเล็กน้อยตามพุทธศิลป์ของพระสมเด็จวัดระฆังฯพิมพ์ใหญ่ทุกพิมพ์ (ยกเว้นพิมพ์สังฆาฏิยาว) ที่ใต้ข้อศอกซ้ายมีเส้นจีวรโยงลงมาที่เข่าซ้าย พระบาทซ้ายเป็นทรงยาวแนบที่หน้าตัก ยาวจรดเข่าขวา (ซึ่งการกดพิมพ์ที่ตื้นไปบ้างทำให้มองเห็นพระบาทได้ไม่ชัดนักจากรูปภาพ)


 ฐานชั้นที่3 เป็นทรงหมอนหนุนกลมและยาว เส้นแซมใต้ตักเป็นเส้นเล็กๆซึ่งองค์นี้ติดไม่เต็มนัก มองเห็นได้ไม่ชัด ฐานชั้นที่2 เป็นโต๊ะขาสิงห์ เส้นแซมเหนือโต๊ะเกิดจากรอยเคลื่อนของพิมพ์ ส่วนฐานชั้นที่ 1 เป็นฐานเขียงที่โตและแบน ปลายฐานด้านขวาตัดเฉียงเป็นทรงหัวขวาน


 พิมพ์หลังเรียบ มีรูพรุนเข็ม รอยหนอนด้นและเม็ดพระธาตุ และที่สำคัญคือมีรอยปริแยกของขอบตัดที่เราเรียกกันว่ารอยปูไต่ที่จะมองเห็นคราบไคลเสมาตามรอยได้ชัดเจน เป็นพระสมเด็จฯพิมพ์หลังเรียบองค์หนึ่งที่สมบูรณ์สวยงาม


ก่อนอื่นแอดมินต้องขอขอบคุณ คุณธนทัศน์ ทองเนียม ที่ให้ความกรุณาแบ่งปันภาพพระสมเด็จฯองค์นี้เพื่อให้ท่านอาจารย์ได้เขียนคำบรรยาย และอธิบายถึงเอกลักษณ์ต่างๆของพระสมเด็จฯองค์นี้ เพื่อเป็นวิทยาทานแก่สมาชิกแฟนเพจที่สนใจศึกษาในการดูพระนะครับ กราบขอบพระคุณครับ


 
 
 

Comentários


© 2024 Artmulet Precious. All rights reserved.

bottom of page